411 จำนวนผู้เข้าชม |
ที่ประชุมมีมติดังนี้
1.ให้ถอดตุรเคีย และ จาไมก้า จากกลุ่มประเทศที่ถูกติดตามความคืบหน้าโดยคณะทำงาน ICRG โดยประเทศที่มีความคืบหน้าไม่เพียงพอยังคงอยู่ในกลุ่มแต่ปรับแถลงการณ์ให้สอดคล้องผลการดำเนินการในปัจจุบัน สำหรับเมียนมา ที่ประชุมเห็นว่ายังคงไม่ยกระดับมาตรการในรอบนี้ แต่เมียนมา จะต้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ICRG ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมใหญ่ในเดือนตุลาคม 2567 และคงเกาหลีเหนือไว้ในกลุ่มบัญชีดำที่ต้องดำเนินมาตรการตอบโต้พร้อมเน้นย้ำถึงภัยคุกคามจากการแพร่ขยายอาวุธที่เกิดจากเกาหลีเหนือ
1.1 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ (บัญชีดำ) จำนวน 3 ประเทศ คือ เกาหลีเหนือ อิหร่าน และเมียนมา
1.2 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มติดตามโดย ICRG (บัญชีเทา) จำนวน 21 ประเทศ คือ บัลแกเรีย บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน โครเอเชีย สาธารณรัฐคองโก เฮติ เคนยา มาลี โมนาโก โมซัมบิก นามิเบีย ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เซเนกัล อาฟริกาใต้ ซูดานใต้ ซีเรีย แทนซาเนีย เวเนซุเอลา เวียดนาม และเยเมน
2. รับรองเกณฑ์การพิจารณาประเทศเข้าสู่กลุ่มที่ต้องติดตามความคืบหน้าอย่างเข้มข้น ที่จะนำมาใช้ร่วมกับผลการประเมิน โดยจะพิจารณาจากเกณฑ์ที่ถือว่าเป็นความเสี่ยงสูง คือ (1) เป็นสมาชิก FATF (2) เป็นประเทศในกลุ่มรายได้สูง และ (3) มีปริมาณเงินหมุนเวียน (broad money) มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดภาระของประเทศที่พัฒนาน้อยในการเข้าสู่กระบวนการ ICRG เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบต่อภาคการเงินของโลกต่ำ
3. เห็นชอบการปรับปรุงระเบียบวิธีการประเมินที่ยกระดับการดำเนินงานด้านการติดตามทรัพย์สินระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้อาชญากรได้ประโยชน์จากการก่ออาชญากรรม
4. เสร็จสิ้นการทบทวนมาตรการของประเทศต่างๆในการป้องกัน DNFBPs ไม่ให้ถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน โดยจะเผยแพร่รายงานในเดือนกรกฎาคม 2567
5. เผยแพร่รายงานความคืบหน้าในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล ของประเทศที่ถูกระบุว่ามีการดำเนินกิจกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล (VA) อย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าร้อยละ 75 ของประเทศต่างๆยังมีการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
6.จะมีการปรับแก้มาตรฐานสากลเพื่อให้รองรับกับพัฒนาการของระบบชำระเงินระหว่างประเทศ ให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น ค่าใช้จ่ายถูกลง และเพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมทางการเงิน
7. รับรองรายงานการประเมินของอินเดีย และคูเวต โดยจากผลการประเมินของทั้งสองประเทศ ทำให้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มติดตามความคืบหน้าอย่างเข้มข้น
8. คงการระงับการเป็นสมาชิก FATF ของรัสเซีย โดยขอให้ระวังความเสี่ยงจากการหลบเลี่ยงมาตรการลงโทษเพื่อปกป้องการเงินระหว่างประเทศ
9.ประธาน FATF คนใหม่ต่อจากสิงคโปร์ คือ Elisa de Anda Madrazo จากเม็กซิโก โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ถึง 30 มิถุนายน 2569 โดยกำหนดวาระที่ประธานต้องการผลักดันพิเศษ ได้แก่ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายในระดับนานาชาติ สนับสนุนการปฏิบัติตามข้อแนะนำและระเบียบวิธีประเมินที่ปรับปรุงใหม่ และเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องการติดตามทรัพย์สินระหว่างประเทศ ข้อมูลเจ้าของผู้รับประโยชน์และสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง