6023 Views |
รู้ไว้สักนิด ก่อนคิดเป็นผู้ค้ำประกัน
ในปัจจุบัน หากจะทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ สถาบันการเงินต้องการเพิ่มความมั่นใจในตัวผู้กู้มากขึ้น โดยให้มี"ผู้ค้ำประกัน" เพราะอย่างน้อยหากผู้กู้ไม่จ่ายหนี้ ก็ยังมีผู้ค้ำประกันคอยรับผิดชอบอยู่
ผู้ค้ำประกัน คือ การที่ใครคนหนึ่ง ได้ทำสัญญากับเจ้าหนี้ ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะทำการชำระหนี้นั้นแทน ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกัน รับผิดแทนได้
ขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกัน จะไม่จำกัดความรับผิดหรือจะจำกัดความรับผิดชอบของตนไว้ในสัญญาค้ำประกันด้วยก็ได้ ถ้าไม่ต้องการรับผิดอะไรบ้าง หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ก็ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เช่น ลูกหนี้กู้เงินเจ้าหนี้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ผู้ค้ำประกันจะจำกัดความรับผิดเฉพาะกรณีที่บุคคลนั้น ทำความเสียหายเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่ไม่รวมถึงประมาทเลินเล่อด้วยก็ได้ เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วก็รับผิดเท่าที่จำกัดไว้ แต่ถ้าไม่จำกัดความรับผิดเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้ ไม่ชำระเงินหรือค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดจนสิ้นเชิงเช่นเดียวกับลูกหนี้ทุกอย่าง เมื่อทำสัญญาประกันแล้วผู้ค้ำประกันต้องผูกพันตามสัญญานั้น เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้รับผิดได้ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด
สิทธิของผู้ค้ำประกัน
(๑) เมื่อผู้ค้ำประกันถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ มิใช่ผู้ค้ำประกันต้องชำระหนี้ทันทีแต่มีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ ไปเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ ทั้งนี้ภายใต้ข้อยกเว้นบางประการและถ้า เจ้าหนี้ฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับลูกหนี้ก็ยังมีสิทธิพิสูจน์ต่อศาลว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินชำระหนี้ได้และการที่จะบังคับจากลูกหนี้นั้นไม่เป็นการยาก ถ้าผู้ค้ำประกันนำพยานเข้าสืบและฟังได้เช่นนั้น ศาลก็ต้องบังคับเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนเพราะหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องชำระมิใช่เป็นหนี้ของผู้ค้ำประกันเอง ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ชั้นที่สอง
(๒) เมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ไม่ว่าชำระแต่โดยดี หรือชำระหนี้โดยถูกบังคับตามคำพิพากษา ผู้ค้ำประกันก็มีสิทธิรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ในอันที่จะเรียกเอาเงินชำระให้เจ้าหนี้ใช้แล้วนั้น คืนจากลูกหนี้ได้ตามจำนวนที่ชำระไปตลอดจนทั้งค่าเสียหายต่าง ๆ เนื่องจากการค้ำประกัน
การพ้นความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
เมื่อเซ็นชื่อในสัญญาแล้วผู้ค้ำประกันก็มีภาระจะต้องรับผิดต่อเจ้าหน้าที่จนกว่าหนี้ของลูกหนี้ จะระงับไป ตราบใดที่หนี้ของลูกหนี้ยังมีอยู่ผู้ค้ำประกันก็ไม่พ้นความรับผิด แต่มีพฤติการณ์บางอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิด
(๑) เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ คือถ้าได้กำหนดวันชำระหนี้ไว้แน่นอนแล้ว เจ้าหนี้ยืดเวลา ต่อไปอีกผู้ค้ำประกันก็พ้นความรับผิด
(๒) เมื่อหนี้ของลูกหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว ผู้ค้ำประกันเอาเงินไปชำระแก่เจ้าหนี้ไว้แน่นอนแล้ว แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับโดยไม่มีเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากความรับผิดเช่นเดียวกัน
ดังนั้น การจะค้ำประกันให้ใคร ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง ศึกษาข้อมูลรายละเอียดทั้งของตัวลูกหนี้เอง และขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ
ด้วยความปรารถนาดีจากกองบังคับการปราบปราม
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก : http://www.thailaws.com/aboutthailaw/knowing_law_002.htm
#ค้ำประกัน #ผู้ค้ำประกัน #กู้เงิน #เกร็ดกองปราบ #กองปราบ #กองปราบปราม #CSD