21308 จำนวนผู้เข้าชม |
เรื่อง คุณเข้าใจเรื่องของ "นายหน้า" จริงหรือไม่
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “นายหน้า” คืออะไร นายหน้า คือ บุคคลที่ตกลงว่าจะเป็นคนกลางในการทำหน้าที่ชี้ช่องทางหรือจัดการให้บุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าตัวการ ได้เข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยบุคคลที่เป็นตัวการนั้นตกลงจะให้ค่าตอบแทนที่เรียกว่า“บำเหน็จ” แก่คนกลางที่เรียกว่า “นายหน้า” ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้นการที่ตัวการได้เข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอก อันเป็นผลโดยตรงมาจากการที่มีคนกลางซึ่งเป็นนายหน้า ได้ทำหน้าที่ในการชี้ช่องทางหรือจัดการให้บุคคลภายนอกนั้นได้เข้าทำสัญญากับตัวการแล้ว เพียงเท่านี้คนกลางที่เรียกว่า “นายหน้า” นั้นก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่เรียกว่า “ค่าบำเหน็จ” หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ค่านายหน้า” จากตัวการตามที่ได้มีการตกลงกันไว้
ตัวอย่าง นายสมชายตกลงให้นายสมบัติทำหน้าที่เป็นนายหน้าขายที่ดินแปลงหนึ่งให้กับนายสมชาย โดยนายสมชายตกลงว่าจะให้ค่านายหน้าแก่นายสมบัติร้อยละ 3 ของราคาที่ดินที่ขายได้ เมื่อนายสมบัติตกลงด้วยแล้ว นายสมบัติจึงได้นำเรื่องที่นายสมชายต้องการขายที่ดินแปลงนั้นไปบอกให้นายสมศักดิ์ทราบ นายสมศักดิ์ต้องการซื้อที่ดิน นายสมศักดิ์จึงไปติดต่อกับนายสมชายเพื่อขอซื้อที่ดินและได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวกับนายสมชาย เช่นนี้จะเห็นได้ว่า การซื้อขายที่ดินรายนี้สำเร็จได้ เนื่องมาจากผลของการทำหน้าที่เป็นนายหน้าของนายสมบัติในการชี้ช่องทางให้นายสมศักดิ์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับนายสมชายซึ่งเป็นตัวการ ดังนั้นนายสมบัติจึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่เรียกว่า “บำเหน็จ” จากนายสมชายตามสัญญาที่ได้มีการตกลงกันไว้ ( กฎหมายอ้างอิง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 )
เมื่อนายหน้าได้ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการชี้ช่องทางหรือจัดการให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและผู้ขายซึ่งเป็นตัวการ ได้เข้าทำสัญญากันแล้ว ต่อมาหากผู้ซื้อไม่ได้ชำระค่าที่ดินให้กับผู้ขายตามสัญญา แล้วแบบนี้นายหน้ายังจะมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จอยู่หรือไม่
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีว่า นายสมชายมอบอำนาจให้นายสมบัติ ขายที่ดินแปลงหนึ่งในราคา สามล้านบาท โดยนายสมชายตกลงว่าจะให้ค่านายหน้าแก่นายสมบัติซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจร้อยละสามคิดเป็นเงินเก้าหมื่นบาท ต่อมานายสมบัติจึงได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปเสนอขายให้กับบุคคลต่างๆ เป็นเวลาหลายวัน ในที่สุดก็ขายได้ โดยนายสมศักดิ์ ตกลงซื้อที่ดินแปลงนี้ในราคาสามล้านบาท นายสมบัติจึงนำนายสมชายผู้ขายไปทำสัญญากับนายสมศักดิ์ผู้ซื้อ ภายหลังทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันไม่กี่วันเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อปรากฏว่านายสมศักดิ์ผู้ซื้อได้ประสบอุบัติเหตุ จึงต้องนำเงินที่เตรียมไว้เพื่อซื้อที่ดินนั้นไปจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตัวเอง ทำให้นายสมศักดิ์ไม่มีเงินเหลือพอที่จะนำมาชำระค่าที่ดินให้กับนายสมชายได้ตามสัญญา เรื่องนี้มีปัญหาที่น่าสนใจให้ชวนติดตามอยู่ว่าเมื่อผู้ขายยังไม่ได้รับเงินในการขายที่ดินจากผู้ซื้อหลังจากที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้ทำสัญญากันแล้วแบบนี้นายหน้าจะมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จจากผู้ขายอีกหรือไม่
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น นายหน้าก็ยังคงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่เรียกว่า “บำเหน็จ” อยู่ ทั้งนี้เพราะเหตุที่ว่านายหน้านั้นได้ทำหน้าที่ของตนได้ครบถ้วนแล้ว คือได้มีการชี้ช่องทางหรือจัดการให้คนขายกับคนซื้อได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นผู้ซื้อจะชำระค่าที่ดินให้กับผู้ขายมากน้อยเพียงใดหรือยังไม่ชำระเลย นายหน้าก็ยังคงมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จตามที่ได้มีการตกลงกันไว้ ( กฎหมายอ้างอิง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 วรรคแรก และคำพิพากษาฎีกาที่517/2494)
กล่าวโดยสรุป เมื่อนายหน้าได้ทำการชี้ช่องให้ผู้ซื้อผู้ขายได้ทำสัญญากันแล้วนายหน้าย่อมได้ค่านายหน้า แม้ภายลังจะมีการยกเลิกสัญญาและไม่มีการจ่ายเงินให้แก่กันตามสัญญาก็ตาม
ข้อคิดเห็น ปัจจุบันบุคคลที่เป็นนายหน้านั้นมีส่วนสำคัญในการทำธุรกิจมาก ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาภายหลังจากการทำหน้าที่เป็นนายหน้าแล้ว เราควรทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือ จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกันเกี่ยวกับเรื่องค่าบำเหน็จหรือที่เรียกกันว่า “ค่านายหน้า” ในภายหลังจะดีกว่า